วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พระราชดำรัสเศรษฐกิจแบบพอเพียง

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา


…มาใหม่ๆ นี้โครงการต่างๆ ก็เกิดขึ้น โรงงานนี้เกิดขึ้นมาก จนกระทั่งเขานึกว่าประเทศไทยเป็นเสือตัวเล็กๆ และเป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่าเป็นเสือ

ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้น ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองให้ได้มีพอเพียงกับตัวเอง

อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเองจะต้อง ทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัว อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก

อย่างนี้นักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย จริงอาจจะล้าสมัย เพราะว่าคนอื่นเขาก็มีเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง รู้สึกไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า การผลิตที่พอเพียงทำได้

อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุนให้ปลูกข้าวที่พอเพียงกับตัวเอง เก็บไว้ในยุ้งเล็กๆ แต่ละครอบครัวเก็บ และถ้ามีพอก็ขาย แต่คนอื่นกลับบอกว่าไม่สมควร โดยเฉพาะทางภาพอีสาน เขาบอกต้องปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อที่จะขาย อันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้วของตัวเองจะบริโภคต้องซื้อ จะซื้อจากใคร ทุกคนปลูกข้าวหอมมะลิ ในภาคอีสานมากเขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็นคนปลูกข้าวเหนียวเพราะว่าประกาศโฆษณาว่าคนที่ปลูกข้าวเหนียว เป็นคนโง่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ

เลยสนับสนุนบอกว่า ให้เขาปลูกข้าวบริโภค เขาชอบข้าวเหนียวก็ปลูกข้าวเหนียว เขาชอบข้าวอะไรก็ตาม ให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้เพื่อใช้บริโภคตลอดปี ถ้ายังมีที่ที่จะทำนาปรังหรือมีที่มากพอสำหรับปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อจะขายที่พูดอย่างนี้เพราะว่าข้าวที่ปลูกสำหรับบริโภค ไม่ต้องเที่ยวรอบโลก ถ้าข้าวที่ซื้อมาต้องข้ามจังหวัดหรืออาจจะข้ามประเทศมา ค่าขนส่งนั้นก็บวกเข้าไปในราคาข้าว

เขาบอกขายข้าวหอมมะลิได้ราคาแพง ซึ่งเป็นความจริงตอนที่ขายผู้บริโภคในต่างประเทศ แต่ต้นทางไม่ได้ค่าตอบแทนมากนักและยังต้องไปซื้อข้าวบริโภค ซึ่งจะแพงกว่าเพราะว่าต้องขนส่งมา

ข้อนี้ได้ทราบดี เพราะว่าเมื่อมีภัยธรรมชาติ จะเป็นที่ไหนก็ตาม สมมติว่ามีอยู่ที่เชียงราย ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า ออกไปสงเคราะห์และก็ขอข้าวที่จะไปแจก เราก็ซื้อข้าวในราคากรุงเทพฯ หมายความว่าข้าวนั้นมาจากเชียงราย เพราะเชียงรายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาจากเชียงราย ขนส่งมาถึงกรุงเทพฯ ซื้อที่กรุงเทพฯ และส่งไปเชียงราย เสียค่าขนส่งเท่าไร แต่แท้จริงไปซื้อที่เชียงรายได้ ซื้อที่กรุงเทพฯ แต่ให้เขาจ่ายที่เชียงราย ข้าวนั้นไม่ต้องเดินทาง แต่ว่าราคาเขาเดินทาง คือ พ่อค้าเขานำข้าวในนามในเอกสารนำเข้ากรุงเทพฯ เขาเอาค่าเดินทางของข้าวจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ และบวกค่าเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย ลงท้ายต้องเสียเงินราคาข้าวแพง ผู้ที่บริโภคข้าวในภาคเหนือ ก็ต้องเสียแพงเช่นเดียวกับภาคใต้ ถ้าใกล้หน่อยอย่างนราธิวาสก็ซื้อข้าวจากพัทลุง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแบบค้าขาย ภาษาฝรั่งเขาเรียก Trade Economy ไม่ใช่แบบพอเพียง ซึ่งฝรั่งเรียก Self-Sufficient Economy ถ้าเราทำแบบที่ไหนทำได้คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อน

อย่างทุกวันนี้เราเดือดร้อน สำหรับข้าวก็เห็นชัด สำหรับสิ่งอื่นประชาชนก็ต้องใช้มีสิ่งของจำเป็นที่จะใช้หลายอย่างที่เราทำใน เมืองไทยและสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งนอกด้วย แต่สำหรับส่งนอกนั้นมีพิธีการมากมาย มีทางที่จะผ่านมากมาย ลงท้ายกำไรไม่เหลือกำไรมันน้อย แต่ถ้าสามารถที่จะติดต่อโดยตรงอย่างก่อนนี้เขาติดต่อโดยตรงเขาส่งไปเป็นหีบๆ ที่ลงเรือ ที่เรียกว่า Container ก็ส่งไปเต็ม Container ลงท้ายค่าขนส่งไม่แพงนัก


โรงสีแห่งความสุขร่วมกัน

พูดกลับไปกลับมาเรื่องการค้า การบริโภค การผลิต และการขาย รู้ว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่เงินมาก แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้จะไม่ถึงครึ่งอาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็สามารถที่จะอยู่ได้ การแก้ไขจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้ ที่จริงในที่นี้ก็มีนักเศรษฐกิจต่างๆ ควรจะเข้าใจที่จะพูด

อย่างรถที่นั่งมาเมื่อสักครู่ สร้างด้วยฝีมือคนไทย มีการใช้วัตถุดิบในเมืองไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะค่าแรง รถคันนี้โรงงานนั้นเดี๋ยวนี้ผลิตไม่ได้เพราะว่าคนไม่มีเงิน ทำให้ไม่มีการหมุนเวียนของเงินก็เลยสร้างรถคันนี้มา คนที่สร้างรถคันนี้มีจำนวน 200 กว่าคนเขาทำรถคันเดียว เลยทำให้เห็นว่าน่าจะหาทางช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้ แต่โรงงานเขาก็ดี เขาก็ดูแลคนงาน ไม่ได้ทำให้คนงานเดือดร้อนจนเกินไปเท่ากับมีสวัสดิการ งานก็ทำไม่มากเท่าก่อนนี้ และเงินที่ได้ก็ไม่มากเท่าก่อนนี้ แต่ก็พออยู่ได้

และเขามีความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ เขายังมีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่ เขาบอกว่าเขาขอไปดูโครงการที่เขาหินซ้อนว่าทำอย่างไร สำหรับที่เพาะปลูกในทุรกันดาร ในที่ที่ไม่ค่อยเหมาะสมในการเพาะปลูก เลยตั้งใจสนับสนุนเขา ให้เขาตั้งโรงสีเหมือนโรงสีในสวนจิตรฯ นี้ ซึ่งก็ไม่แพงนัก เมื่อตั้งโรงสีแล้วปลูกข้าวเองบ้าง ไปซื้อข้าวจากเกษตรกรมาสีและขายในราคาที่เหมาะสมในรูปสหกรณ์ดังที่ทำที่สวน จิตรฯ ไม่ได้ใช้ข้าวที่ปลูกในสวนจิตรฯ เพราะว่าข้าวที่ปลูกในสวนจิตรฯ เอาไปเข้าพิธีแรกนาขวัญ แต่ถ้า พูดถึงข้าวที่โรงสีนี้ใช้ ไปซื้อจากเกษตรกรโดยตรงโดยให้ราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อในราคาถูก เพราะไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงผู้ผลิตผู้บริโภคก็มีความสุข

กิจกรรมแบบนี้เคยแนะนำไป ซึ่งในหน่วยทหารบางหน่วยเขาก็ทำโรงสี และสนับสนุนเกษตรกรที่อยู่รอบๆ กองทหารนั้น ก็ดูมีความสุข ที่นิคมต่างๆ นิคมที่ประจวบฯ บ้าง ที่ภาคใต้บ้าง ที่อื่นเขามีโรงสี และทำให้การซื้อข้าวขายข้าวเป็นที่พอใจของผู้ขาย

เคยได้แนะนำกับริษัทใหญ่ๆ ให้ทำ ก็ไม่ทราบว่าเขาทำหรือไม่ทำ แต่ว่าถ้าทำอย่างที่กองทหารและนิคมทำ ก็สามารถที่จะประหยัดและมีกิน

การตั้งโรงสีย่อมต้องมีการลงทุน การเพาะปลูก ผลิตข้าวหรือผลิตสิ่งของทางการเกษตรก็ต้องมีการลงทุน จะเอาเงินทุนมาจากไหน ก็นึกว่าผู้ที่มีจิตใจกุศลก็สามารถที่จะสนับสนุน อย่างที่พ่อค้าบางคน เขาบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจการที่ทำอยู่


ต้องถอยหลังเพื่อก้าวหน้า

ที่วันนี้ได้พูดไปแล้วนั้น เป็นวิธีแก้ไขสถานการณ์วิกฤติในปัจจุบันวิธีหนึ่ง เพราะในสมัยนี้เป็นสมัยที่พูดกันได้ว่าโลกาภิวัตน์ ซึ่งเราก็ต้องทำตามประเทศอื่นด้วยเพราะว่าถ้าไม่ทำตามประเทศอื่นตามคำสัญญา ที่มีไว้ เขาอาจจะไม่พอใจ

แต่ว่าทำไมเขาไม่พอใจเพราะว่าของเขาเองก็มี วิกฤตการณ์เหมือนกัน การที่ประเทศใกล้เมืองไทยในภูมิภาคนี้มีวิกฤตการณ์ด้วย ก็ทำให้เราฟื้นจากวิกฤตการณ์นี้ยากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ แม้ประเทศที่ดูท่าทางเจริญรุ่งเรืองดีก็ยังรู้สึกว่าก็กำลังจะเดือดร้อนขึ้น เพราะว่าถ้าไม่แก้ไขวิกฤตการณ์ในมุมไหนของโลกก็ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน

ฉะนั้น ต้องดูว่าเราพยายามที่จะอุ้มชูประชาชนได้ และให้ประชาชนได้ทำงานได้มีรายได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤติ ถ้าจะทำแบบที่มีนโยบาย คือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไป ในเมืองไทยตลาดก็น้อยลง เพราะว่าคนมีเงินน้อยลง แต่ข้อสำคัญของเขาบอกว่าให้ส่งออกไปยังประเทศอื่น ประเทศอื่นเขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน เขาก็ไม่ซื้อ ถ้าผลิตเป็นผลิตผลทางอุตสาหกรรมและไม่มีผู้ซื้อ ก็เป็นหมันเหมือนกัน

ผลิตผลของเราอาจจะดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ คือมีอุตสาหกรรมที่เรียกว่าสุดยอด แต่ที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาก็เพราะว่าขยายการผลิตมาแล้วไม่มีใครซื้อเพราะ ไม่มีใครมีเงินพอที่จะซื้อ อย่างรถยนต์ที่ใช้มาเมื่อครู่นี้ เขายังมีรถยนต์อยู่ในสต็อกแต่ขายไม่ออก ไม่ใช่ว่าไม่มีคนอยากได้รถ แต่คนอยากได้รถนั้นไม่มีเงิน ถ้าจะขายรถโดยที่เขาไม่จ่ายเงินให้ ใช้เงินเชื่อ บริษัทก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ฉะนั้นเขาชะลอการสร้าง เขาก็เลยมาทำรถคันนี้ให้โดยใช้คนงานตั้ง 200 กว่าคน

นี่ก็เป็นเรื่องของการแก้ไขวิกฤตการณ์ แต่ว่าผู้ที่ชอบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่อาจจะไม่ค่อยพอใจ มันต้องถอยหลังเข้าคลอง มันจะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมือที่ไม่ค่อยหรูหรา อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป และถ้าไม่ทำอย่างที่ว่า ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก

ยังไม่ได้พูดถึงคำที่ทุกครั้งเคยพูดกัน ว่าต้องสามัคคีกัน ต้องอย่าปัดขากันมากเกินไป แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการทำแบบที่บางคนนึกจะทำ คือจะต้องให้ทุกคนมีโอกาสทำงานตามหน้าที่ และเมื่อทำงานตามหน้าที่แล้วก็หวังดีต่อผู้อื่น อันนี้จะเป็นหลักที่สำคัญ คือทำงานด้วยความเห็นอกเห็นใจกันและทำด้วยความขยันหมั่นเพียร


***จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับครบรอบ 2 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2541

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น